top of page

การเตรียมตัวสำหรับการยื่นขอทุน
GKS-G (University Track)

           ช่วงนี้มีคนหลายๆ คนเริ่มสนใจการไปเรียนต่อในต่างประเทศ เราก็เลยอยากจะมาเขียนเก็บไว้เป็นความทรงจำ รวมถึงแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับการขอทุนรัฐบาลเกาหลี หรือที่ทุกคนรู้จักกันในชื่อ GKS (Global Korea Scholarship) ค่ะ ตอนนี้เรามาเขียนรายละเอียดส่วนหนึ่งไว้ก่อน ในอนาคตเราอาจจะทำเป็น VDO อธิบายละเอียดอีกที ยังไงเราจะมาแปะไว้ให้นะคะ 

           ก่อนหน้านี้เราเคยได้เขียนเกี่ยวกับขั้นตอนในการเตรียมเอกสารบางส่วนไว้ใน twitter (click ตรงนี้ได้เลยค่ะ) สามารถกดของไปดูรายละเอียดได้เลยนะคะ ส่วนมากจะเป็นข้อมูลเอกสารพื้นฐานการขอทุนที่ทั้ง Embassy Track และ University Track ใช้เลยค่ะ ใน blog นี้จะไม่ได้เขียนถึงสิ่งที่เราทวิตไปแล้วมากนักเพื่อไม่ให้ยาวไป แต่จะเขียนเกี่ยวกับ process อื่นๆ ที่ยังไม่ได้เขียนไปนะคะ มาเริ่มกันเลย เย้!

ข้อมูลคร่าวๆ เกี่ยวกับทุนรัฐบาลเกาหลี GKS-G

           หลายๆ คนที่ศึกษาเกี่ยวกับทุนรัฐบาลเกาหลีก็จะเห็นว่าจะมีตัวย่อ GKS-U และ GKS-G โดยที่ GKS-U คือทุนรัฐบาลเกาหลีสำหรับการศึกษาต่อในระดับปริญญาตรี ส่วน GKS-G จะเป็นทุนสำหรับศึกษาต่อในระดับปริญญาโท-เอกค่ะ ซึ่งที่ตัวเราสมัครศึกษาต่อในระดับปริญญาโทไปค่ะ เท่ากับว่าทุกอย่างที่จะเขียนต่อจากนี้ไปจะเป็นของ GKS-G

           เว็บไซต์หลักที่จะใช้กระจายข้อมูลข่าวสารของทุนนี้คือ https://www.studyinkorea.go.kr/en/main.do ในกรณีที่สนใจทุนนี้ เมื่อกดเข้าไปให้ไปที่ GKS Notice ค่ะ บอร์ดประกาศตรงนี้จะเป็นข้อมูลเกี่ยวกับทุนนี้โดยเฉพาะค่ะ

           สำหรับทุนนี้จะเปิดรับสมัครประมาณเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี แต่เวลาปิดรับสมัครของแต่ละมหาวิทยาลัยไม่เหมือนกัน เพราะฉะนั้นอย่าลืมเข้าไปเช็คให้ดีนะคะว่ามหาวิทยาลัยที่เราสนใจปิดรับสมัครเมื่อไหร่ โดยทั่วไปกำหนดการรวมถึงคณะที่เปิดรับของแต่ละมหาลัยก็จะไม่ได้คลาดเคลื่อนมากค่ะ อาจจะมีบางมหาลัยที่มาเข้าร่วมเพิ่มหรือถอนตัวออก ยังไงก็ลองไปศึกษาข้อมูลของปีก่อนหน้าเป็นแนวทางได้ค่ะ ลองกดบอร์ดไปเรื่อยๆเพื่อดูข้อมูลของแต่ละปีไว้ล่วงหน้าก็จะดีมากๆเลยค่ะ แนะนำให้อ่าน Guideline ให้ละเอียดเลยค่ะ ในนั้นบอกแทบทุกอย่าง รวมถึง Benefit ที่เราจะได้รับตลอดการไปเรียนด้วยค่ะ

           ทุนนี้มีช่องทางในการยืน 2 แบบ ได้แก่

           - Embassy Track : สถานทูตไทย > NIIED > มหาวิทยาลัย (เลือกมหาวิทยาลัยได้ 3 อันดับ)

           - University Track : มหาวิทยาลัย > NIIED (เลือกได้แค่ที่เดียว ยื่นหว่านไม่ได้)

           ปีก่อนหน้านี้เราสามารถเลือกยื่นได้เพียงแค่แบบเดียว แต่ในปี 2021 ไม่แน่ใจเพราะสถานการณ์ covid ที่ทำให้ระยะเวลาการรับสมัครของ University Track ของบางมหาวิทยาลัยขยายไปยาวมากๆ ทำให้คนที่ไม่ผ่านรอบแรกของ Embassy Track สามารถยื่น University Track ได้อีกครั้งกับมหาวิทยาลัยที่ยังไม่ปิดรับ แต่ทั้งนี้ ขึ้นอยู่ที่ปีนั้นๆด้วยว่าจะมีกฎเกณฑ์ยังไง ตัวเราเลือกยื่นเป็น University Track ไป ดังนั้นเราจะเขียนแต่ที่เกี่ยวกับ University Track นะคะ ไม่ได้มีประสบการณ์กับ Embassy Track เลย

การเลือกรูปแบบที่จะยื่นและการเลือกมหาวิทยาลัย

           เหตุผลที่ทำให้เราตัดสินใจเลือกยื่นแบบ University Track ข้อแรกคือ profile ของเราไม่ได้ดีมาก ไม่ได้มีกิจกรรมอะไรเยอะ คะแนนสอบวัดระดับภาษาก็อยู่ในระดับกลางๆ ยิ่งไปกว่านั้นคือสิ่งที่เราต้องการจะยื่นจะว่าตรงสายที่จบมาไหม ก็ไม่ได้ต่างมาก แต่ก็ไม่ตรงเท่าไหร่ ข้อต่อมาคือเราค่อนข้างกลัวการสัมภาษณ์กับคนในสถานทูตค่ะ 555555 เป็นเหตุผลที่ฟังดูตลกมาก แต่เรามองว่าถ้าเรากลัว ก็อย่าไปเสี่ยงเลย เอาที่เรามั่นใจดีกว่า ข้อสุดท้ายคือเราอยากจะเลือกมหาวิทยาลัยไปเลยเพื่อให้การเขียน Study Plan มันมีความชัดเจน พุ่งไปเลยที่เดียว เราจึงตัดสินใจตั้งแต่ก่อนที่จะเลือกมหาวิทยาลัยว่าเราจะเลือกยื่นแบบ University Track ค่ะ

           ตัวเราเองมองว่าข้อดีของ University Track คือทางมหาวิทยาลัยได้อ่านใบสมัครของเราแน่นอน เพราะเราต้องส่งไปให้เขาโดยตรง ถึงเราจะไม่ได้ในปีนี้ แต่ถ้าปีหน้าเรายังจะสู้ต่อกับที่เดิม เขาก็ต้องคุ้นชื่อเราบ้างแหละ แต่ข้อเสียของ University Track คือประกาศผลอะไรต่างๆ นานา ช้ากว่า Embassy Track ดังนั้นถ้าไม่ผ่านก็ต้องรอสู้ใหม่ปีต่อไปเลยค่ะ บางคนก็มองว่าการต้องเลือกที่เดียวก็เป็นข้อเสีย แต่สำหรับเราเรามองว่าเป็นข้อดีที่จะทำให้เราโฟกัสมากขึ้น ยังไงก็ต้องพิจารณาอีกทีว่าตัวเองเหมาะกับแบบไหนมากกว่ากันอีกทีเลยค่ะ

           การเลือกมหาวิทยาลัยของเรา เราเอาคณะที่อยากเรียนเป็นตัวตั้งก่อนว่าอยากเรียนอะไร หลังจากนั้นเราก็ค่อยไปหาว่ามีมหาวิทยาลัยอะไรบ้างที่เปิดสอนผ่าน https://www.studyinkorea.go.kr/en/main.do ซึ่งเราสามารถกดได้ว่าเราอยากจะดูมหาวิทยาลัยที่อยู่ในเมืองไหนด้วยค่ะ เป็นไปได้ลองเข้าไปดูที่หน้าเว็บของมหาวิทยาลัยนั้นเพื่อดูรายละเอียดวิชาที่เขาเปิดสอนได้เลยค่ะ ถ้าไม่มีก็สามารถเมลล์ไปขอได้เลยเพื่อประกอบการตัดสินใจ

การเตรียมตัวก่อนจะขอทุน

           เราขอเขียนการเตรียมตัวแยกกับการเตรียมเอกสารนะคะ เพราะตัวเราเตรียมตัวค่อนข้างนาน แต่เพราะความอ๊องทำให้ใช้เวลาเตรียมเอกสารน้อยมากกก การเตรียมตัวในพาร์ทนี้จะเป็นการเตรียมตัวในภาพรวมก่อนที่จะมาถึงวันเตรียมเอกสารค่ะ 

           ตัวเราเองเป็นเด็กเอกจีน แถมยังไม่มีไตเติ้ลวิชาโทพ่วงอีกเพราะว่าเป็นเอกเดี่ยว แน่นอนว่าถ้าเรายื่นทุนขอไปเรียนต่อประเทศเกาหลี คำถามแรกที่ผุดขึ้นมาในหัวกรรมการก็คงจะเป็น 'ทำไมถึงไม่เรียนจีนต่อ?' ดังนั้นเพื่อให้กรรมการไม่เกิดความสงสัยหรือไม่มั่นใจกับการเปลี่ยนสายภาษาของเรา ระหว่างที่เรียนป.ตรี เราก็เลยลงเรียนวิชาของเกาหลีในมหาวิทยาลัยค่อนข้างเยอะ เพื่อเป็นหลักฐานให้กรรมการเห็นว่าเรามีความสนใจจริงๆ ไปแข่งขันหรือทำกิจกรรมอะไรที่เกี่ยวกับเกาหลีบ้าง และที่สำคัญคือสอบ TOPIK เพื่อให้กรรมการมั่นใจในตัวเราเพิ่มว่าเราจริงจังกับภาษานี้จริงๆ 

           ตัวเราเองไม่ได้ศึกษาเรื่องมหาวิทยาลัยโดยละเอียดมาก่อน แค่เตรียมตัวสร้าง profile ในด้านต่างๆ ที่คาดว่าจะเป็นคะแนนเพิ่มให้เราได้ ส่วนตัวเราเองพึ่งมาเลือกว่าจะสมัครมหาวิทยาลัยอะไรหลังจากที่รายละเอียดของปี 2021 ซึ่งมันช้ามากๆ ทำให้ต้องตัดบางตัวเลือกออกเนื่องจากเตรียมเอกสารไม่ทันกำหนด ทุกอย่างวุ่นวายมากๆ เพราะกำลังเรียนเทอมสุดท้ายอยู่พอดีด้วย ตัวเราไม่ได้ทำการติดต่อกับมหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ก่อนล่วงหน้าเหมือนที่ผู้สมัครอีกหลายคนแนะนำเลยเพราะเวลาทุกอย่างบีบไปหมด ยังไงก็อย่าทำแบบเรานะคะ 55555555 ศึกษาข้อมูลเนิ่นๆดีที่สุดค่ะ

การเตรียมเอกสารเพื่อขอทุน

           ก่อนหน้านี้เราเคยได้เขียนเกี่ยวกับขั้นตอนในการเตรียมเอกสารบางส่วนไว้ใน twitter (click ตรงนี้ได้เลยค่ะ) ขอบอกว่าเอกสารพวกนี้ถ้าเตรียมก่อนจะประหยัดเงินมากๆเลยค่ะ อย่าขอแบบจวนตัวเพราะค่าใช้จ่ายจะพุ่งเป็น 2 เท่าตัวเลย

           ในทวิตเรายังไม่ได้เขียนถึงตัว Personal Statement กับ Statement of Purpose เดี๋ยวเราจะมาเขียนคร่าวๆ ในนี้และจะไปอธิบายเพิ่มเติมในคลิป VDO ในอนาคตนะคะ

           Personal Statement เราขอเปรียบง่ายๆ ว่าเป็นเอกสารแนะนำตัวเราให้กรรมการรู้จัก ซึ่งแนะนำตัวในที่นี้ไม่ใช่บอกประวัติการศึกษาโดยละเอียด เล่าชีวิตตัวเองให้กรรมการฟัง แต่เป็นการทำให้กรรมการรู้ว่าเราเป็นใครและแสดงให้กรรมการเห็นว่าทำไมเราถึงอยากมาเรียนที่เกาหลี โดยในฟอร์มการสมัครแต่ละปีจะมีหัวข้อย่อยมาว่าเขาต้องการอะไรบ้าง (ก็จะวนๆอยู่กับการแนะนำตัว เล่าประสบการณ์ ข้อดี ทำไมต้องเกาหลี อะไรพวกนี้) ขอให้จดไว้เลยว่าเราต้องเขียนสิ่งที่เขาขอให้ครบ แล้วหลังจากนั้นจะเพิ่มอะไรก็เพื่อให้บทความเรามันนัว มันกลมกล่อมขึ้นก็เพิ่มไปเลยค่ะ 

           เทคนิคของเราคือเขียนง่ายๆ แต่ว่าให้เป็นเรื่องต่อกัน อ่านแล้วไม่กระโดดไปกระโดดมาค่ะ สับเป็นพารากราฟเล็กๆให้ชัดว่าตรงนี้เราจะพูดอะไร พยายามทำให้เขาเห็นว่าประสบการณ์ที่ผ่านมาของเรามันเชื่อมโยงกับสิ่งที่เราจะเรียนต่อและ Thesis ที่เราจะทำยังไง ก่อนจบก็ลงท้ายด้วยประโยคสวยๆสักหน่อย โดยรวมคืออย่าใส่อะไรที่เป็นน้ำเยอะเลยค่ะ พื้นที่มันน้อยมากเพราะแค่ 1 หน้า A4 ให้เน้นๆเนื้อไปเลย

           Statement of Purpose เป็นเหมือนเอกสารที่ให้เราเขียนแผนการต่างๆ โดยของทุน GKS จะแบ่งเป็น 3 พาร์ท

           1.Language Study plan 

           2.Goal of Study (Study plan)

           3.Future plan

 

           พาร์ทแรกที่เป็น Language Study plan อันนี้ก็เขียนไปคร่าวๆว่าก่อนไปเราจะเตรียมตัวยังไง และหลังไปถึงเกาหลีเราจะพัฒนาสกิลภาษาอย่างไร เราแนะนำให้เขียนทั้งแนวทางการพัฒนาภาษาของอังกฤษและเกาหลีเลยค่ะ หรือใครที่เรียนภาษาอื่นอีก ถ้ามันเกี่ยวกับเกาหลีก็เขียนไปด้วยก็ได้ค่ะ อย่างเราก็เขียนไปว่าเราจะศึกษาฮันจาเพื่อให้เข้าใจเกาหลีมากขึ้น

           พาร์ทที่ 2 Goal of Study (Study plan) อันนี้ให้เราเขียนเกี่ยวกับหัวข้อ Thesis ของเราว่าทำไมเราถึงอยากจะทำหัวข้อนี้ แล้วถ้าทำหัวข้อนี้จะเป็นประโยชน์ต่อเกาหลียังไง เพื่อที่เราจะสามารถบรรลุเป้าหมายตรงนี้ได้เราจะลงเรียนวิชาอะไรบ้าง (รายวิชาสามารถไปดูได้ที่เว็บของมหาวิทยาลัยหรือเมลล์ขอเพิ่มเติมก็ได้ค่ะ) เราแนะนำมากๆ ให้เขียนตรงนี้ เพราะมหาวิทยาลัยเองก็จะได้เห็นด้วยว่าเราเอาจริง เราตั้งใจจริงๆกับมันค่ะ สำหรับหัวข้อ Thesis ถ้ามีในหัวแล้วก็จะดีมากๆ เลยค่ะ แต่ถ้ายังไม่มีลองเขียนให้แคปลงมาว่าอยากทำอะไร พอให้เขาเห็นไอเดียในตัวเราค่ะ

           พาร์ทที่ 3 Future plan เขียนไปเลยค่ะว่าเราอยากจะทำอะไร วาดฝันไปเลย แต่ฝันที่เราวาดก็ควรวกกลับมาว่ามันจะส่งผลดีต่อประเทศเกาหลียังไง เพราะเราขอทุนจากประเทศเขา ถ้าเราไม่ทำอะไรที่เป็นประโยชน์ต่อเขาก็คงจะแปลกๆ 

           สำหรับเราที่จะไปเรียนต่อเกี่ยวกับด้านภาษา เราก็เลยเลือกเขียนเป็นภาษาเกาหลีไป โดยใช้ฟ้อนต์ Gulim ซึ่งเป็นฟ้อนต์เดียวกับภาษาเกาหลีส่วนอื่นๆ ในฟอร์มสมัคร ขนาดฟ้อนต์ 11 ค่ะ สำหรับใครที่จะเขียนภาษาอังกฤษ ในฟอร์มก็จะแจ้งไว้ว่าให้ใช้ฟ้อนต์อะไร ระยะห่างเท่าไหร่ อย่าลืมปรับให้ตรงนะคะ

 

            หลายๆคนมักจะบอกว่าให้คนอ่านเอกสารเราเยอะๆ แล้วฟังคอมเมนต์เพื่อมาเปรียบเทียบกัน แต่ตัวเราเองทำตรงกันข้ามเลยค่ะ เราเอา draft ก่อนแปลให้คนจำนวนนึงดูก่อนว่าไอเดียโอเคไหม แต่หลังจากแปลเสร็จ เราให้คนช่วยตรวจแค่ 2 คน เพราะว่าพอคนตรวจเยอะๆ ความเห็นเยอะขึ้น บางทีความเห็นก็คัดแย่งกันเอง ทำให้เรารู้สึกสับสนว่าจะแก้บทความยังไงดี แต่อันนี้ก็แล้วแต่บุคคลเลยนะคะ เป็นแค่วิธีของเราที่เลือกคนตรวจแค่ 2 คนที่เรามั่นใจ (รายละเอียดเพิ่มเติม คลิ๊กได้เลย)

           คร่าวๆ (ที่ยาวมาก) ก็ประมาณนี้เลยค่ะ หากใครมีอะไรที่สงสัยหรืออยากให้อธิบายเพิ่มสามารถบอกเราในทวิต @Jonggxin_ หรือ @ordinary_jeong ได้เลยนะคะ เราจะเก็บไปพูดเพิ่มเติมใน VDO ค่ะ ขอบคุณมากๆ ที่อ่านกันมาถึงตรงนี้นะคะ สวัสดีค่ะ :)

bottom of page